เมื่อต้องเป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่ง

เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นและไม่มีทางอื่นใดนอกจากจะต้องฟ้องร้องคดีต่อศาล โจทก์จะต้องเตรียมตัวอย่างไร ก่อนฟ้องจำเลย และมีวิธีการขั้นตอนการดำเนินคดีอย่างไร

เมื่อมีปัญหาขัดแย้งพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่ง ซึ่งไม่สามารถตกลงกันได้ โจทก์มีสิทธินำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีแพ่งได้ โจทก์จึงควรรีบปรึกษาทนายความพร้อมกับแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินคดี โดยการสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมเอกสารหลักฐานต่างๆ แล้วจึงนำข้อเท็จจริงมาปรับเข้ากับข้อกฎหมายเพื่อตั้งรูปเรื่องของคดีว่าจะไปในทิศทางใด แล้วจึงร่างคำฟ้อง เพื่อยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลต่อไป

ทนายความโจทก์ต้องจัดเตรียมเอกสารที่กฎหมายกำหนดดังต่อไปนี้ คำฟ้อง คำขอท้ายฟ้อง บัญชีระบุพยาน สำเนาเอกสาร ใบแต่งทนายความ คำแถลงขอส่งหมาย ทะเบียนราษฎร์หรือหนังสือรับรองห้างหุ้นส่วนบริษัทของจำเลย เพื่อส่งให้ศาลและตามจำนวนจำเลย

โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ศาลไหนได้บ้าง (เขตอำนาจศาล)

1. คำฟ้องทั่วไป ให้ยื่นต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิด (มูลเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิ ที่ทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง)

2. คำฟ้องเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ให้ยื่นต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล

หากคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลหลายศาล โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ศาลใดศาลหนึ่งที่อยู่ในเขตอำนาจก็ได้

นอกจากนี้ทนายความยังต้องดูจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องจากจำเลยประกอบด้วย คือ

1. คดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 แสนบาท อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวง (ถ้าจังหวัดใดไม่มีศาลแขวง จะต้องฟ้องคดีต่อศาลจังหวัด)

2. คดีมีทุนทรัพย์เกิน 3 แสนบาท และคดีไม่มีทุนทรัพย์ อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัด หรือศาลแพ่ง

โจทก์จะขอยกเว้นค่าขึ้นศาลได้หรือไม่

โจทก์สามารถยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาลได้ ถ้าโจทก์ไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาล หรือหากไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควรเมื่อพิจารณาถึงสถานะของโจทก์

เมื่อยื่นคำฟ้องแล้วทนายความโจทก์จะต้องทำอะไรบ้าง

เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องต่อเจ้าหน้าที่จะได้หมายเลขคดีดำมา โจทก์ต้องกำหนดวันนัดพิจารณา พร้อมกับชำระค่าขึ้นศาลตามอัตราที่กฎหมายกำหนดและชำระค่านำส่งหมายเรียกให้กับจำเลย

หลังจากวันที่ยื่นคำฟ้อง โจทก์ยังมีหน้าที่ต้องตามคำสั่งศาลว่ารับฟ้องหรือไม่ พร้อมกับตามผลการส่งหมาย ว่าเจ้าหน้าที่ส่งหมายให้จำเลยได้หรือไม่ หากส่งได้ก็ต้องดูด้วยว่าส่งให้จำเลยเมื่อวันที่เท่าไหร่ ส่งโดยวิธีธรรมดาหรือโดยวิธีอื่น เพื่อดูว่าจำเลยจะต้องยื่นคำให้การภายในวันใด แต่ถ้าส่งไม่ได้โจทก์จะต้องยื่นคำแถลงต่อศาลว่าจะดำเนินการส่งหมายอย่างไรต่อไป

ถ้าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ทนายความโจทก์จะต้องทำอย่างไร

ในคดีแพ่งสามัญ เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกแล้วไม่ยื่นคำให้การภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัด ถ้าโจทก์ไม่ยื่นคำขอดังกล่าวภายในกำหนด ศาลอาจมีคำสั่งจำหน่ายคดีได้

แต่ถ้าเป็นคดีมโนสาเร่ / คดีไม่มีข้อยุ่งยาก / คดีผู้บริโภค แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลก็จะให้โจทก์สืบพยานไปฝ่ายเดียว โดยโจทก์ไม่ต้องยื่นคำขอชนะคดีเหมือนอย่างในคดีแพ่งสามัญ

จากนั้นโจทก์ก็จะต้องไปศาลในวันนัดพิจารณา ก็จะมีการนัดพร้อม ไกล่เกลี่ย นัดไต่สวนคำร้องคำขอ นัดสืบพยานโจทก์ นัดสืบพยานจำเลย และนัดฟังคำพิพากษา ซึ่งมีรายละเอียดขั้นตอนมากประกอบกับข้อกฎหมาย การฟ้องคดีของโจทก์จึงจำเป็นต้องมีทนายความเข้ามาช่วยเหลือดำเนินคดีแทน