เมื่อถูกฟ้องเป็นจำเลยคดีอาญา

เมื่อถูกผู้เสียหายหรืออัยการฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญานั้น โดยกล่าวหาว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดทางอาญา และขอให้ศาลลงโทษจำเลย จำเลยก็มีสิทธิที่จะแก้ข้อกล่าวหาได้ เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้เต็มที่

กรณีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาแทนผู้เสียหาย

เมื่ออัยการมีคำสั่งฟ้องคดีแล้วจะมีการนำตัวผู้ต้องหามาฟ้องต่อศาล จึงเปลี่ยนฐานะเป็นจำเลย จำเลยอาจต้องประกันตัวออกมาเพื่อปรึกษาทนายความต่อสู้คดี คดีอาญาที่อัยการเป็นโจทก์จะไม่มีการไต่สวนมูลฟ้อง เนื่องจากได้มีการสอบสวนคดีมาก่อนแล้ว

ในคดีอาญาที่อัยการเป็นโจทก์ และมีผู้เสียหายยื่นคำร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเข้ามาด้วย จำเลยมีหน้าที่ยื่นคำให้การต่อสู้คดีที่ผู้เสียหายเรียกร้องมา

 

กรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาด้วยตนเอง

เมื่อได้รับหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องและสำเนาคำฟ้องแล้ว ควรรีบปรึกษาทนายความ กรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาด้วยตนเองจะมีการไต่สวนมูลฟ้องก่อนว่าคดีที่นำมาฟ้องนั้นมีมูลหรือไม่ โดยในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องนั้นจำเลยจะมาหรือไม่มาก็ได้ แต่จำเลยควรแต่งตั้งทนายความมาถามค้านพยานโจทก์ เพื่อให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์

ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนี้จำเลยหรือทนายความจะไม่มีสิทธินำพยานของตนมาสืบ คงมีสิทธิเพียงถามค้านพยานโจทก์เท่านั้น เมื่อไต่สวนมูลฟ้องเสร็จแล้ว ถ้าศาลเห็นว่าคดีไม่มีมูลก็จะพิพากษายกฟ้อง แต่ถ้าเห็นว่าคดีมีมูลก็จะมีคำสั่งรับฟ้องไว้พิจารณา และจำเลยอาจต้องมีการยื่นขอประกันตัวเพื่อให้การต่อสู้คดีต่อไป

 

ในวันนัดพิจารณา ศาลจะถามจำเลยเรื่องทนายความก่อน จากนั้นจะอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง พร้อมกับสอบถามจำเลยว่าจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ ซึ่งจำเลยมีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าไม่ให้การถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ และจำเลยจะให้การด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้

คำให้การจำเลยในคดีอาญา

1. คำให้การปฏิเสธ

2. คำให้การรับสารภาพ

3. คำให้การภาคเสธ (รับในข้อเท็จจริง แต่สู้ด้วยข้อกฎหมาย)

 

จำเลยจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ

จำเลยคงรู้อยู่แล้วว่าตนเองได้กระทำผิดจริงหรือไม่ หากทำจริงก็ควรรับสารภาพ โทษหนักจะกลายเป็นเบาแต่หากไม่ได้ทำผิด ก็ควรให้การปฏิเสธเพื่อแก้ข้อกล่าวหา แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามจำเลยควรปรึกษาทนายความก่อนว่าตามข้อเท็จจริงนั้นมีทางต่อสู้คดีหรือไม่ และควรพูดความจริงกับทนายความ ไม่อย่างนั้นทนายก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้

 

ในการพิจารณาคดีอาญาทุกครั้งจะทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย หากจำเลยไม่มาก็ต้องเลื่อนคดีพร้อมกับออกหมายจับจำเลยและสั่งปรับตามสัญญาประกัน

ในคดีอาญาโจทก์จะเป็นฝ่ายนำพยานเข้าสืบก่อน เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว จำเลยจึงมีสิทธินำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อหักล้างพยานโจทก์ได้

เมื่อสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว ศาลจะนัดฟังคำพิพากษา โดยวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบ แล้วจึงวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด หรือคดีขาดอายุความ หรือมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษ หรือมีความสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่ ศาลจะยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย และพิพากษายกฟ้องโจทก์ แต่ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง และไม่มีการยกเว้นโทษตามกฎหมาย ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิด