การบรรยายฟ้องคดีอาญา

การบรรยายฟ้องในคดีอาญา ต้องบรรยายให้ครบองค์ประกอบของความผิด ส่วนรายละเอียดข้อเท็จจริงต่างๆไม่จำต้องบรรยายมา จึงเป็นคำฟ้องที่สั้น กระชับ เพื่อให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี

 

ป.วิ.แพ่ง  ม.158  ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี

(1) ชื่อศาลและวันเดือนปี

(2) คดีระหว่างผู้ใดโจทก์ผู้ใดจำเลย และฐานความผิด

(3) ตำแหน่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ ถ้าราษฎรเป็นโจทก์ให้ใส่ชื่อตัวนามสกุล อายุ ที่อยู่ ชาติและบังคับ

(4) ชื่อตัว นามสกุล ที่อยู่ ชาติและบังคับของจำเลย

(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี

ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำพูด หนังสือ ภาพขีดเขียนหรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท ให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์หรือติดมาท้ายฟ้อง

(6) อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด

(7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง

 

ม.158 (5)  การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด คือ รายละเอียดข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำที่เป็นองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย

ฟ้องที่บรรยายไม่ครบองค์ประกอบความผิด เป็นฟ้องที่ไม่ชอบ

การบรรยายฟ้องไม่จำต้องใช้ถ้อยคำตามกฎหมาย จะใช้ถ้อยคำอย่างไรก็ได้ ขอให้เป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยกระทำการตามที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด

การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ถ้าหากบรรยายฟ้องขัดแย้งกันเอง ถือเป็นฟ้องเคลือบคลุม

 

รายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลา หมายถึง วัน เดือน ปี ที่เกิดเหตุ รวมทั้งระบุเวลากลางวันหรือกลางคืนให้แน่นอน

ถ้าทราบแต่เวลาเกิดเหตุ แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเหตุเกิดวัน เวลาใด อาจบรรยายฟ้องได้ว่า เหตุเกิดระหว่างวันใดถึงวันใด แล้วระบุด้วยว่า วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด

 

สถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ โดยระบุว่าเหตุเกิดที่ไหน เช่น ตำบล อำเภอ จังหวัด หรือแขวง เขต กรุงเทพฯ

 

บุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้อง

ในความผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์ ต้องระบุว่าทรัพย์นั้นเป็นอะไรด้วย

ระบุชื่อเจ้าของทรัพย์ แต่ถ้าไม่ทราบตัวเจ้าของทรัพย์ ก็ระบุแต่เพียงรูปพรรณ อายุ ของบุคคลนั้น หรือบรรยายฟ้องให้ฟังได้ว่าเป็นทรัพย์ของผู้อื่น ไม่ใช่ทรัพย์ของจำเลย ก็เป็นฟ้องที่ชอบแล้ว

 

อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด

ให้อ้างเฉพาะมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดเท่านั้น ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามบทกฎหมายมาตราใด แต่ไม่จำต้องระบุวรรค หรืออนุมาตรามาด้วย ส่วนบทบัญญัติในเรื่องอื่นๆ ไม่จำต้องอ้างมาด้วย

 

ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง (รวมถึงคำฟ้องอุทธรณ์ ฎีกาด้วย)

หากไม่มีลายมือชื่อ จะลงโทษจำเลยไม่ได้ ศาลต้องยกฟ้อง

เฉพาะคำฟ้องในศาลชั้นต้นเท่านั้น ที่โจทก์จะต้องลงลายมือชื่อด้วยตนเอง ทนายความไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อแทน แต่ในชั้นอุทธรณ์ หรือฎีกา ทนายความลงลายมือชื่อแทนได้ (ใบแต่งทนายความระบุว่าให้มีอำนาจอุทธรณ์ ฎีกาได้)

คำฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ หากปรากฏต่อศาลชั้นต้นก่อนมีคำพิพากษา ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ม.161 แต่ถ้าปรากฏในชั้นอุทธรณ์ หรือฎีกา ถือว่าเป็นการล่วงเลยเวลาที่ศาลจะสั่งให้แก้ไขได้ จึงถือว่าเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง