การขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล)

คู่ความที่ไม่สามารถเสียค่าธรรมเนียมศาลได้ (ค่าขึ้นศาล) อาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ในการฟ้องหรือต่อสู้คดี ในศาลชั้นต้น หรือชั้นอุทธรณ์ หรือชั้นฎีกา (ขอได้ทุกชั้นศาล)

 

ม.155 , 156 , 156/1 , 157

การขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล กฎหมายไม่ได้พิจารณาฐานะของผู้ขอว่าเป็นคนยากจนหรือไม่ แต่พิจารณาถึงสถานะของผู้ขอในขณะนั้นว่า ผู้ขอมีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลหรือไม่ หรือหากไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร เมื่อพิจารณาถึงสถานะของผู้ขอเท่านั้น เพื่อเป็นการทำให้คู่ความสามารถใช้สิทธิของตนในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน

 

ยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลต่อศาลชั้นต้นที่จะฟ้อง หรือได้ฟ้องคดีไว้นั้น พร้อมกับคำฟ้อง คำฟ้องอุทธรณ์คำฟ้องฎีกา คำร้องสอด หรือคำให้การ แล้วแต่กรณี แต่ถ้าบุคคลใดไม่สามารถเสียค่าธรรมเนียมศาลในภายหลัง จะยื่นคำร้องในเวลาใด ๆ ก็ได้

 

ผู้ร้องอาจเสนอพยานหลักฐานไปพร้อมคำร้อง และศาลพิจารณาสั่งคำร้องได้เลย โดยไม่ต้องมีการสาบานตน แต่หากศาลเห็นสมควรไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติม ก็ให้ดำเนินการไต่สวนโดยเร็วเท่าที่จำเป็น

 

เมื่อศาลพิจารณาคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลเสร็จแล้ว ศาลจะมีคำสั่งดังนี้

1. อนุญาตทั้งหมด

2. อนุญาตแต่เฉพาะบางส่วน

3. ยกคำร้อง

 

ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องได้ ต้องเป็นที่เชื่อได้ ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

1. ผู้ร้องไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาล หรือ

2. หากไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล จะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควรเมื่อพิจารณาถึงสถานะของผู้ร้อง

และในกรณีที่ผู้ร้องเป็นโจทก์ หรือผู้อุทธรณ์ หรือฎีกา การฟ้องร้อง หรืออุทธรณ์ หรือฎีกา จะต้องมีเหตุผลอันสมควรด้วย (หากไม่มีเหตุผลอันสมควร ศาลยกคำร้องได้เลย)

 

เมื่อศาลอนุญาตให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในศาลใด บุคคลนั้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล (ม.149 ว.2 และ ว.4) ในการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้น รวมถึงเงินวางศาล (เงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ม.229) ในการยื่นฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกา

 

ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้แต่เฉพาะบางส่วน หรือมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้ขออาจอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายใน 7 วัน นับแต่วันมีคำสั่ง ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งในชั้นศาลชั้นต้น ชั้นศาลอุทธรณ์ ชั้นศาลฏีกา จะต้องอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ทั้งสิ้น และคำสั่งของศาลอุทธรณ์เช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด

– อุทธรณ์ได้เฉพาะกรณีที่ศาลอนุญาตบางส่วน หรือยกคำร้องเท่านั้น และเฉพาะผู้ขอเท่านั้นที่ยื่นอุทธรณ์ได้ เพราะเป็นเรื่องระหว่างผู้ขอกับศาล ไม่เกี่ยวกับคู่ความฝ่ายอื่น โดยยื่นอุทธรณ์ตาม ม.223 ไม่ใช่ยื่นเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง

 

ถึงแม้ว่าจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลแล้ว แต่คู่ความก็ยังมีหน้าที่ที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ อีก เช่น ค่าส่งหมาย ค่าทำแผนที่พิพาท ค่าป่วยการและค่าพาหนะพยาน ค่าตรวจเอกสารโดยผู้เชี่ยวชาญ เงินประกันในการขอทุเลาการบังคับ เงินที่ต้องใช้ตามคำพิพากษาหรือหาประกันตาม ม.234 เป็นต้น

ทนายความ ทนาย รับว่าความและปรึกษากฎหมายฟรี