คำฟ้องแพ่ง ม.172

คำฟ้องแพ่งต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น จึงจะถือว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ป.วิ.แพ่ง  มาตรา 172  ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 57 ให้โจทก์เสนอข้อหาของตนโดยทำเป็นคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้น

คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น

ให้ศาลตรวจคำฟ้องนั้นแล้วสั่งให้รับไว้ หรือให้ยกเสีย หรือให้คืนไป ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18

 

โจทก์ต้องเสนอข้อหาของตนโดยทำเป็นคำฟ้อง เว้นแต่กรณีการร้องสอดตาม ม.57 ที่ต้องยื่นเป็นคำร้องขอ แต่ก็ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ ตาม ม.172 ว.2 ด้วย เนื่องจากการร้องสอดตาม ม.57 (1) มีลักษณะเป็นคำฟ้อง

 

สภาพแห่งข้อหา คือ ต้องบรรยายให้ศาลทราบถึงสิทธิของโจทก์ที่จะขอให้ศาลบังคับจำเลย ที่โจทก์มีสิทธิได้รับความคุ้มครอง รับรองตามกฎหมายแพ่ง

ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือ การกระทำของจำเลยที่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์

คำขอบังคับ  คือ คำขอท้ายฟ้องที่โจทก์ต้องการให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลย

 

คำฟ้องที่ไม่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ถือเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นฟ้องเคลือบคลุม

คำฟ้องที่ไม่แจ้งชัด เช่น คำฟ้องที่ไม่แน่นอน หรือขัดแย้งกันเอง ถือเป็นฟ้องเคลือบคลุม

ฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในคำฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องประกอบกัน

ฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ในคดีแพ่ง ไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจะยกขึ้นพิจารณาเองไม่ได้ ตาม ม.142 (5)

 

อุทธรณ์และฎีกาถือเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่ง จึงต้องอยู่ในบังคับตาม ม.172 ว.2 ด้วย

คำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกา ไม่จำต้องบรรยายคำฟ้อง คำให้การเดิม และคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ เพราะมีอยู่ในสำนวนศาลแล้ว เพียงแต่บรรยายคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ใช้ชัดแจ้ง โดยแสดงเหตุผลแห่งคำคัดค้านว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร ก็ถือว่าเป็นอุทธรณ์ ฎีกาที่สมบูรณ์แล้ว

 

ศาลมีอำนาจตรวจคำฟ้องแล้วสั่งให้รับไว้ หรือให้ยกเสีย หรือให้คืนไป ตาม ม.18

ในชั้นตรวจคำฟ้อง หากศาลเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง หรือคดีไม่มีมูลที่จะฟ้องร้อง ศาลมีอำนาจสั่งยกฟ้องได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งรับฟ้องไว้ก่อน ตาม ม.172 ว.3

การยกฟ้องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีแล้ว มีผลเป็นการพิพากษาคดีและไม่ต้องคืนค่าธรรมเนียมศาลตาม ม. 151