การแจ้งความร้องทุกข์ คืออะไร มีหลักเกณฑ์อย่างไร และต้องร้องทุกข์ภายในระยะเวลาใด ให้มีผลเป็นคำแจ้งความร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และไม่ให้คดีขาดอายุความ
คำร้องทุกข์ หมายถึง การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ ซึ่งมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
1. ต้องมีผู้กระทำความผิดขึ้น ไม่ว่าจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม
2. การกระทำนั้นทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย
3. ผู้เสียหายมีเจตนาที่จะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
คำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายนั้นจะต้องมีข้อความที่แสดงให้เห็นว่า ผู้เสียหายมีเจตนาที่จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ นำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ หรือให้ดำเนินคดีจนถึงที่สุด แต่หากเป็นการแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เพื่อเป็นหลักฐานเท่านั้น โดยไม่มีข้อความดังกล่าวข้างต้น กฎหมายไม่ถือเป็นคำร้องทุกข์ ซึ่งในคดีความผิดอันยอมความได้นั้น พนักงานสอบสวนยังไม่มีอำนาจทำการสอบสวน และพนักงานอัยการก็ไม่มีอำนาจฟ้องคดี และอาจทำให้คดีขาดอายุความได้
ผู้เสียหายจะแจ้งความร้องทุกข์เป็นหนังสือหรือร้องด้วยวาจาก็ได้ ถ้าเป็นหนังสือต้องมีวันเดือนปี และลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ ถ้าร้องด้วยวาจา ให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ลงวันเดือนปีและลงลายมือชื่อผู้บันทึกกับผู้ร้องทุกข์ในบันทึกนั้น และต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องทุกข์
2. ลักษณะแห่งความผิด
3. พฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง
4. ความเสียหายที่ได้รับ
5. ชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำผิดเท่าที่จะบอกได้
อายุความในการแจ้งความร้องทุกข์
ความผิดอันยอมความได้ ( คดีที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน ) ผู้เสียหายจะต้องฟ้องคดีต่อศาลหรือแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นคดีจะขาดอายุความ
เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ควรรีบปรึกษาทนายความก่อน และแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยเร็ว ทั้งยังจะต้องแจ้งความร้องทุกข์ให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นการป้องกันไม่ให้คดีขาดอายุความแล้ว ยังทำให้พนักงานสอบสวนสามารถสืบสวน สอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ได้ง่าย สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น