การถอนทนายความ

เมื่อมีการตั้งทนายความแล้ว แต่มีเหตุผลบางประการ ที่ต้องถอนทนาย ตัวความสามารถที่จะถอนทนายความคนเก่าและแต่งตั้งทนายความคนใหม่ให้มาทำหน้าที่แทนได้

เมื่อตัวความได้แต่งตั้งทนายความให้มาดำเนินคดี โดยการทำสัญญาจ้างว่าความและทำใบแต่งทนายแล้ว หากต่อมาในระหว่างการพิจารณาคดีในศาล มีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ตัวความย่อมมีสิทธิที่จะถอดถอนทนายได้ เพราะการแต่งตั้งและการถอดถอนทนายความเป็นอำนาจของตัวความโดยเฉพาะ โดยการยื่นคำร้องขอถอนทนายความของตนต่อศาล จึงถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาว่าตัวความต้องการที่จะถอนทนายความ และการถอนทนายในกรณีที่ตัวความขอถอนเองนั้น จะมีผลทันที ไม่อยู่ในดุลพินิจของศาล ศาลต้องสั่งอนุญาต แม้ศาลจะมีคำสั่งในคำร้องว่าอนุญาตให้ถอนทนายความได้ ก็มีความหมายแต่เพียงว่า ศาลรับทราบเรื่องการถอนทนายความแล้วเท่านั้น

กรณีทนายความขอถอนตนเอง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 65 บัญญัติว่า  ทนายความที่ตัวความได้ตั้งแต่งให้เป็นทนายในคดีจะมีคำขอต่อศาลให้สั่งถอนตนจากการตั้งแต่งนั้นก็ได้ แต่ต้องแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าทนายความผู้นั้นได้แจ้งให้ตัวความทราบแล้ว เว้นแต่จะหาตัวความไม่พบ

วรรค 2  เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอแล้ว ให้ศาลส่งคำสั่งนั้นให้ตัวความทราบโดยเร็วโดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน แล้วแต่จะเห็นสมควร

การที่ศาลจะอนุญาตให้ทนายความถอนตนเองจากการแต่งตั้งนั้น เป็นดุลพินิจของศาลว่าจะอนุญาตหรือไม่ จะต้องแจ้งให้ตัวความทราบเรื่องก่อน และต้องได้รับความยินยอมจากตัวความด้วย เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับตัวความ ดังนั้นการที่ทนายความถอนตนเองจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน ต่างกับกรณีที่ตัวความขอถอนเอง