หลักการเขียนหนังสือบอกกล่าวทวงถาม

ตามปกติแล้วการฟ้องคดีไม่จำเป็นจะต้องมีการบอกกล่าวทวงถามก่อนฟ้องคดี เว้นแต่กรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าจะต้องมีการบอกกล่าวก่อนฟ้อง แต่อย่างไรก็ตามก่อนที่จะยื่นฟ้องคดีทุกครั้งควรทำหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้อีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติก่อน เพื่อเป็นการหาข้อยุติก่อนนำคดีไปสู่ศาลและเพื่อความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

หนังสือบอกกล่าวทวงถาม เป็นเอกสารที่เจ้าหนี้ หรือผู้ที่จะใช้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งในทางกฎหมาย บอกกล่าวไปยังลูกหนี้ หรือบุคคลที่ทำให้เสียสิทธิใด ๆ รับทราบว่าตนจะต้องปฏิบัติตามคำบอกกล่าวก่อน หากเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

หนังสือบอกกล่าวทวงถาม ใช้รูปแบบเดียวกันกับจดหมายราชการทั่วไป ในการสอบตั๋วทนายให้ใช้กระดาษ A4 ธรรมดา ไม่ใช้แบบพิมพ์ศาล

รายละเอียดในการทำหนังสือบอกกล่าวทวงถาม

1. ชื่อหนังสือบอกกล่าวทวงถาม

2. สถานที่ที่ทำ

3. วัน เดือน ปี ที่ทำ

4. เรื่อง (ต้องสอดคล้องกับเนื้อหาในหนังสือบอกกล่าวทวงถาม)

5. เรียน คุณ (ชื่อลูกหนี้ หรือบุคคลที่ถูกบอกกล่าว)

6. อ้างถึง (นิติกรรมสัญญา เอกสารที่เกี่ยวข้อง)

7. เนื้อหา (โดยทั่วไปจะมี 2 หรือ 3 ย่อหน้า แล้วแต่กรณี ๆไป)

–  ย่อหน้าแรก บรรยายนิติสัมพันธ์

–  ย่อหน้าที่สอง ลูกหนี้ หรือบุคคลที่ถูกบอกกล่าว ได้ปฏิบัติผิดนัด หรือผิดสัญญาอย่างไร

–  ย่อหน้าที่สาม เจ้าหนี้ หรือผู้บอกกล่าว มีความประสงค์อย่างไร

8. คำลงท้าย

 

ตัวอย่างหนังสือบอกกล่าวทวงถาม

ทำที่ สำนักงานทนายความ

วันที่ 14 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เรื่อง ขอให้ชำระหนี้

เรียน คุณช่วย ยุติธรรม

อ้างถึง สัญญากู้เงิน

ตามที่ท่านได้ทำ________________________________________ (นิติสัมพันธ์ อ้างสัญญา ข้อตกลง เหตุที่ผิดสัญญา ข้อโต้แย้งสิทธิ ความเสียหาย โดยย่อ) ________________________________________

ข้าพเจ้าในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายชัย ยุติธรรม จึงขอแจ้งให้ท่าน____________________ (ดำเนินการ หรือจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อตกลง) ____________________ภายในกำหนด 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ท่านได้รับหนังสือฉบับนี้ หากท่านเพิกเฉย ข้าพเจ้ามีความจำเป็นจะต้องดำเนินการตามกฎหมายกับท่านต่อไป

ขอแสดงความนับถือ

 

(  นายชอบ ยุติธรรม  )

ทนายความผู้รับมอบอำนาจ

ทนายความ เตรียมสอบตั๋วทนาย