อย่างไรถึงจะเป็นหมิ่นประมาท

ข้อความที่จำเลยกล่าวจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงความรู้สึกของวิญญูชนทั่ว ๆ ไปเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าข้อความที่กล่าวนั้น ถึงขั้นที่ทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาทน่าจะเสียชื่อเสียง ถูกบุคคลอื่นดูหมิ่น เกลียดชังหรือไม่ มิใช่พิจารณาตามความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทแต่ฝ่ายเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2777/2545

ป.อ. มาตรา 326

ป.วิ.อ. มาตรา 161

โดยเฉพาะกรณีที่เหตุเกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีของศาล ขณะที่ผู้พิพากษารออ่านรายงานกระบวนพิจารณาซึ่งจำเลยอยู่ในภาวะถูกกดดันเป็นอย่างมาก การที่จำเลยกล่าวข้อความว่า “ทนายความคนนี้ใช้ไม่ได้ ทั้งประเทศไทยมีทนายความแบบนี้อยู่คนเดียว ชอบหาเรื่องกลั่นแกล้งจำเลย ประเทศชาติอยู่ไม่ได้แน่ ถ้ายังมีทนายความประเภทนี้ อย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล” และเมื่อ ผู้พิพากษาตักเตือน จำเลยยังกล่าวต่ออีกว่า “ท่านครับอย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล” เป็นการระบายความรู้สึกของจำเลยที่มีต่อโจทก์ และเป็นการวิจารณ์การทำงานในหน้าที่ทนายความของโจทก์ ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับจำเลยในความรู้สึกว่าจำเลยถูกกลั่นแกล้ง หาใช่เป็นการใส่ความให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังไม่ จึงไม่เป็นหมิ่นประมาท

ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง แม้ศาลจะพิจารณาเพียงว่าคดีโจทก์พอมีมูลที่จะประทับฟ้องไว้หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ศาลก็ชอบที่จะวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องไปได้เลย ไม่จำเป็นต้องประทับฟ้องไว้แล้วพิจารณายกฟ้องในภายหลัง