พระบิดาแห่งทนายความไทย

ท่านราม ณ กรุงเทพ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นทนายความคนแรกในประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงปรีชาญาณในด้านต่างๆ ทรงมีพระบรมราชโองการตั้งเนติบัณฑิตยสภา และพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2457 โดยเฉพาะได้ทรงเลือกประกอบวิชาชีพทนายความใน “นครดุสิตธานี” เมืองแห่งประชาธิปไตยที่พระองค์ให้ข้าราชบริพารและประชาชนเข้าถึงระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกในสยาม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบอาชีพทนายความ และทรงใช้พระนามแฝงว่า ท่านราม ณ กรุงเทพ ทรงใช้สำหรับการเป็นพลเมืองคนหนึ่งในดุสิตธานี ทรงโปรดเกล้าให้มหาดเล็กยกโต๊ะทรงพระอักษรไปไว้ใกล้ๆริมอ่างหยก และตั้งเต็นท์ขึ้น แล้วขึ้นชื่อว่า “สำนักงานทนายความ ท่านราม ณ กรุงเทพ” เพื่อให้ประชาชนทั้งหลายได้มาปรึกษากฎหมายและอรรถคดี

สำนักงานทนายความท่านราม ณ กรุงเทพ ได้เปิดให้บริการให้คำปรึกษากฎหมายเรื่อยมา จนกระทั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2468 จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือวันมหาธีรราชเจ้า เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงบำเพ็ญมาตลอด 15 ปี แห่งรัชกาลของพระองค์