ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกให้บุคคลอื่น ทายาทจะทำอย่างไร

การที่ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกให้บุคคลอื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาท ไม่จัดการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท ตามสิทธิและหน้าที่ของการเป็นผู้จัดการมรดก ไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉล แต่ทายาทมีสิทธิให้ทนายความฟ้องเรียกคืนได้โดยอาศัยอำนาจกรรมสิทธิ์ ติดตามเอาคืนทรัพย์มรดก ตามมาตรา 1336 ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 814/2554

ป.พ.พ. มาตรา 237 , 1336 , 1719

ช.ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทแก่ อ. เมื่อ ช. ตายที่ดินพิพาทตกเป็นของ อ. ต่อมา อ. ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินของตนทั้งหมดแก่โจทก์ทั้งห้า เมื่อ อ. ตาย ที่ดินพิพาทตกเป็นของโจทก์ทั้งห้า แม้ศาลจะมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ช. จำเลยที่ 1 ก็เพียงแต่มีอำนาจจัดการทรัพย์มรดกของ ช. แทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทแก่ทายาททุกคนเท่านั้น แต่ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทที่ตกเป็นของโจทก์ทั้งห้าไปขายให้บุคคลใด โดยทายาทผู้ได้รับมรดกไม่ยินยอม จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งห้า ส่วนจำเลยที่ 2 แม้จะซื้อที่ดินโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์

ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทคืน จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 กรณีไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237 เพราะการที่จะเป็นเรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลได้นั้น จำเลยที่ 1 ผู้โอนต้องมีสิทธิโอนอยู่แล้ว และการโอนทำให้โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินของโจทก์ทั้งห้าให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่มีสิทธิ และจำเลยที่ 2 รับซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีสิทธิขายแล้ว แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามหลักที่ว่า “ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน”