การรับบุตรบุญธรรม

 

สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายของการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

การจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กฎหมายจะให้ความคุ้มครองสิทธิเด็กให้มีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมทันที นับแต่วันที่จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม เช่น มีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม มีสิทธิใช้นามสกุลของผู้รับบุตรบุญธรรม แต่ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรม แต่เป็นผู้รับพินัยกรรมได้
ผู้รับบุตรบุญธรรม มีอำนาจปกครองให้ความอุปการะเลี้ยงดูบุตรบุญธรรม และ ถือว่าบุตรบุญธรรมเป็นผู้สืบสันดานของผู้รับบุตรบุญธรรมเสมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนี้แล้ว บุตรบุญธรรมยังไม่เสียสิทธิที่พึงมีตามกฎหมายในครอบครัวเดิมแต่อย่างใด คือ ยังมีสิทธิรับมรดกของบิดามารดาที่แท้จริงได้ และบิดามารดาที่แท้จริงมีสิทธิไปมาหาสู่เยี่ยมเยียนได้ตามสมควร พ่อแม่โดยกำเนิด หมดอำนาจปกครองนับแต่วันจดทะเบียน แต่ไม่ขาดจากการเป็นพ่อแม่และบุตรบุญธรรมไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่กำเนิดมา
ทั้งนี้กฎหมายยังคุ้มครองเด็ก โดยผู้รับบุตรบุญธรรมจะเลิกรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาที่แท้จริงเสียก่อน และจะฟ้องให้มีการเลิกรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมโดยไม่มีเหตุอันควรไม่ได้

 

คุณสมบัติทางสังคมของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

1. เป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ ครอบครัวอบอุ่น ความสัมพันธ์ในครอบครัวดี
2. ต้องมีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ
3. ต้องมีฐานะการครองชีพที่มั่นคง มีทรัพย์สินและรายได้ที่แน่นอน ไม่มีหนี้สิน และไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายการลี้ยงดูหรือสนับสนุนการศึกษาของเด็ก
4. ต้องมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ถูกสุขลักษณะ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่อยู่ห่างไกลจากชุมชนมากเกินไป
5. ต้องมีเวลาให้กับเด็กที่จะรับเป็นบุตรบุญธรรม ให้ความสำคัญ และเอาใจใส่เด็กอย่างใกล้ชิด
6. ต้องมีเหตุผลในการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่เหมาะสม ไม่เชื่อถือเรื่องโชคลาง รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอย่างเปิดเผยและจริงใจ ไม่ได้รับการคัดค้านจากสมาชิกในครอบครัว ญาติพี่น้อง
7. ต้องไม่มีบุตร หรือเด็กในความอุปการะมากเกินไป เพื่อให้บุตรบุญธรรมได้รับความรักและการเอาใจใส่อย่างเต็มที่
8. ไม่เคยมีประวัติกระทำความผิดตามกฎหมาย หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ต่อบุคคลอื่นหรือประพฤติผิดศีลธรรมและจารีตประเพณีอันดีงาม
9. ต้องมีวุฒิภาวะเหมาะสมที่จะอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนให้บุตรบุญธรรมประพฤติตนเป็นคนดี

 

คุณสมบัติทางกฎหมายของผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมและผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม

1. ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องมีอายุแก่กว่าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
2. ผู้เป็นบุตรบุญธรรมที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี ต้องให้ความยินยอมด้วยตนเอง
3. ผู้เป็นบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้เยาว์ ต้องได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดา หรือผู้ปกครอง
พ่อและแม่กรณีที่มีทั้งพ่อและแม่
พ่อหรือแม่ กรณีที่พ่อหรือแม่ตายหรือถูกถอนอำนาจปกครอง
ถ้าไม่มีผู้มีอำนาจผู้ให้ความยินยอม หรือกรณีพ่อหรือแม่ไม่ให้ความยินยอมโดยไม่มีเหตุผลสมควร ให้อีกฝ่ายหนึ่งหรือผู้ที่จะขอรับบุตรบุญธรรม หรืออัยการ จะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมแทนการให้ความยินยอมก็ได้
4. ผู้จะรับบุตรบุญธรรม หรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสอยู่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน
ในกรณีที่คู่สมรสไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้ หรือไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และหาตัวไม่พบเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ต้องร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมของคู่สมรสนั้น
5. ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดอยู่ จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกในขณะเดียวกันไม่ได้เว้นแต่จะเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น