การตั้งทนายความ

การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล ตัวความสามารถดำเนินการได้เอง แต่ในทางปฏิบัติมักจะตั้งทนายความ เนื่องจากความไม่รู้กฎหมาย ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ ในศาล หากทำเองก็อาจจะเสียรูปคดีได้

 

เมื่อถูกโต้แย้งสิทธิหรือจะใช้สิทธิทางศาล ไม่ว่าจะฟ้องร้อง ต่อสู้คดี หากตัวความทำเองไม่ได้ ก็คงจะต้องมีการแต่งตั้งทนายความ เพื่อเข้ามาดำเนินการว่าความฟ้องร้อง ต่อสู้คดีแทน ซึ่งก่อนที่จะตั้งทนายความนั้นอาจจะต้องทำสัญญาจ้างว่าความกันก่อน เมื่อได้รับการแต่งตั้งจากลูกความไว้ในใบแต่งทนายแล้ว ทนายถึงจะมีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้

 

การตั้งทนายความจะต้องทำเป็นหนังสือตามแบบพิมพ์ศาล เรียกว่า “ ใบแต่งทนายความ ” ซึ่งจะต้องลงลายมือชื่อตัวความและทนายความ ยื่นต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวน ใบแต่งทนายนี้ใช้ได้เฉพาะคดีเรื่องหนึ่ง ๆ ตามที่ได้ยื่นไว้เท่านั้น

 

อำนาจของทนายความ

ทนายความซึ่งคู่ความได้ตั้งแต่งนั้นมีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ แทนคู่ความได้ตามที่เห็นสมควร เพื่อรักษาผลประโยชน์ของคู่ความนั้น

แต่ถ้าเป็นการดำเนินการที่เป็นไปในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความ ทนายความไม่มีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณานั้นได้ หากตัวความจะให้ทำได้ ต้องระบุไว้โดยชัดแจ้งในใบแต่งทนายความ เช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ การสละสิทธิ หรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกา หรือในการขอให้พิจารณาคดีใหม่

 

ถึงแม้ว่าตัวความจะไม่ได้สงวนสิทธิเช่นนั้นไว้ในใบแต่งทนายความก็ตาม ตัวความก็สามารถที่จะปฏิเสธหรือแก้ไขข้อเท็จจริงที่ทนายความของตนได้กล่าวด้วยวาจาต่อหน้าตนในศาลในขณะนั้นก็ได้