สภาทนายความ

เมื่อประชาชนมีปัญหาทางด้านกฎหมายหรือคดีความ สามารถมาขอคำปรึกษากฎหมายฟรีจากสภาทนายความได้ ซึ่งจะมีทนายอาสาคอยให้ความช่วยเหลือ แนะนำ แก่ประชาชนทั่วไป

สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ มีสถานะเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 เป็นองค์กรสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ ที่สำคัญทางด้านกฎหมายอย่างยิ่งสถาบันหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย

สภาทนายความมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

  1. ส่งเสริมการศึกษาและการประกอบวิชาชีพทนายความ
  2. ควบคุมมรรยาทของทนายความ
  3. ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิกสภาทนายความ
  4. ส่งเสริมและจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกสภาทนายความ
  5. ส่งเสริม ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย

สภาทนายความมีอำนาจหน้าที่ในการจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้เป็นทนายความหรือตั๋วทนาย ซึ่งผู้ที่จะเป็นทนายจะต้องผ่านการสอบจากสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความก่อน

สภาทนายความได้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. การให้คำปรึกษา หรือแนะนำเกี่ยวกับกฎหมาย
  2. การร่างนิติกรรมสัญญา
  3. การจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่าง

ประชาชนผู้ที่มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย จะต้องเข้าหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

1. เป็นผู้ยากไร้

2. ไม่ได้รับความเป็นธรรม

เมื่อคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายรับให้ความช่วยเหลือแล้ว จะจัดให้มีทนายอาสา เพื่อทำหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือ ดำเนินการว่าต่างแก้ต่าง ให้โดยไม่ต้องเสียค่าทนายความ (ฟรี) ส่วนค่าธรรมเนียมศาลหรือค่าขึ้นศาล ค่าส่งหมาย และค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ผู้ขอความช่วยเหลือยังมีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายตามความเป็นจริงอยู่

สภาทนายความได้กำหนดให้มีกองทุนสวัสดิการทนายความ กองทุนการณาปณกิจสงเคราะห์ และกองทุนสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือทนายความที่ได้รับความเดือดร้อนหรือทายาทของทนายความที่ถึงแก่ความตาย ซึ่งได้รับความเดือดร้อนให้ได้รับเงินสงเคราะห์จากกองทุนต่าง ๆ ดังกล่าว